CASE ร่วมกับ SDG Move จัดเวทีเสวนาขับเคลื่อนบทบาทของผู้หญิงในภาคพลังงานไทย

กรุงเทพ ฯ, 25 ตุลาคม 2567 – ภาคพลังงานเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายด้านความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะบทบาทของผู้หญิงที่ยังคงมีจำกัดในอุตสาหกรรมนี้ ข้อมูลจากรายงานขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนผู้หญิงในภาคพลังงานทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึงสองเท่า โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้นำ สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงให้ทัดเทียม 

เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตพลังงานที่ยั่งยืน โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE) โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมภายใต้ “ผู้หญิงในภาคพลังงาน: นำทางบทบาทและความเท่าเทียมในประเทศไทย” ขึ้น เริ่มต้นด้วยการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ตัวแทนผู้หญิงในภาคพลังงาน ในซีรีส์ “Women in Energy” ผ่านช่องทางออนไลน์ทั้ง www.sdgmove.com และ Facebook Page: SDG Move TH และ CASE for SEA ตลอดเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา

ไฮไลท์ของโครงการดังกล่าวคือ เวทีเสวนา “จุดพลังอนาคต สร้างแรงบันดาลใจจาก 4 ผู้นำหญิงในภาคพลังงาน” ที่มุ่งเน้นไปที่การสำรวจบทบาทและความสำคัญของผู้หญิงในภาคพลังงานของไทย อีกทั้งยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการเพิ่มบทบาทของผู้หญิงในภาคพลังงานในอนาคตของประเทศ ได้รับเกียรติจากผู้หญิงเก่งจากหลากหลายสาขาในอุตสาหกรรมพลังงานมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และวิสัยทัศน์ ณ โรงแรม SILQ Hotel & Residence กรุงเทพมหานคร

กล่าวต้อนรับและเปิดงานเสวนาฯ โดยคุณซาช่า อ้อปโปว่า (Sascha Oppowa) ผู้อํานวยการโครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ตามด้วย ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายงานถึงภาพรวมสถานการณ์และความสำคัญของประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ และอุปสรรคในการขับเคลื่อนเรื่องพลังงาน ก่อนเปิดวงเสวนาเพื่อให้ทุกคนพร้อมมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเต็มที่

คุณวริษา สี่หิรัญวงศ์ ที่ปรึกษาโครงการ CASE ได้ขึ้นกล่าวในงานครั้งนี้ว่า

“ในอุตสาหกรรมพลังงาน มีประเด็นท้าทายเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศที่น่าสนใจ คนส่วนใหญ่มักมีมุมมองว่าผู้ชายมีความถนัดด้านวิศกรรมหรือช่างเทคนิคมากกว่า ส่งผลให้อาชีพที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน มักถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของผู้ชายเป็นหลัก  สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อที่ฝังรากลึกในสังคมเกี่ยวกับบทบาทและความสามารถตามเพศ ซึ่งส่งผลต่อการเลือกเส้นทางอาชีพของคนรุ่นใหม่ ทว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่กำลังเกิดขึ้นในภาคพลังงานนั้นจำต้องคำนึงถึงประเด็นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมความหลากหลายและความเท่าเทียมในวงการพลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้แสดงศักยภาพโดยไม่ถูกจำกัดด้วยอคติทางเพศ”

ภายในงาน ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น และแนวทางในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในภาคพลังงาน อาทิ ข้อได้เปรียบของผู้หญิงในการทำงาน การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เอื้อต่อความเท่าเทียมทางเพศ และความสำคัญของบทบาทผู้หญิงการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่ยั่งยืน

ดร.รสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า

อุตสาหกรรมพลังงานกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เป็นความจริงที่ในอดีตภาพของคนทำงานในภาคพลังงานเป็นผู้ชายส่วนใหญ่ เนื่องจากลักษณะงานเป็นงานที่ต้องใช้แรง เช่น การทำงานในเหมืองถ่านหิน  แต่ปัจจุบันเมื่ออุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทนมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในภาคส่วนนี้ได้มากขึ้น เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานหนักเหมือนในอดีต โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการควบคุมระบบต่าง ๆ ผ่านออนไลน์

ดร.รสยายังกล่าวถึงการสนับสนุนผู้หญิงในบทบาทความเป็นแม่ในที่ทำงานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะที่ปตท. ที่มีการจัดตั้ง daycare เพื่อให้แม่สามารถเลี้ยงลูกไปพร้อมกับทำงานได้ ซึ่งส่งผลดีต่อผู้หญิงในองค์กร ดร.รสยาเน้นว่า ในสังคมไทยปัจจุบัน นโยบายการทำงานจากที่บ้านช่วยให้ผู้หญิงสามารถมีส่วนร่วมในครอบครัวได้ในเวลาเดียวกัน การสร้างโอกาสให้กับผู้หญิงจึงเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันความเท่าเทียม และในสภาพแวดล้อมปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ดร.อภิรดี ธรรมมโนมัย ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน มองเห็นความสำคัญของการมีผู้ที่มีพื้นฐานหลากหลายเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ โดยเน้นว่า

การรวมความคิดเห็นจากหลายมุมมองจะทำให้การตัดสินใจมีความรอบคอบและสมดุลมากขึ้น ดร.อภิรดีอธิบายว่า หากมีคนเพียงกลุ่มเดียวที่พุ่งไปข้างหน้า อาจนำไปสู่การสะดุดหรือล้มได้ ในขณะที่ผู้หญิงมักมีนิสัยที่มองรอบด้านก่อนตัดสินใจ ซึ่งช่วยให้สามารถมองเห็นความเสี่ยงและโอกาสได้ดีกว่า

นอกจากนี้ ดร.อภิรดียังได้กล่าวถึงสไตล์การทำงานที่แตกต่างของผู้หญิง ซึ่งมักมองไปที่ “softer side”และให้ความสำคัญกับการประสานผลประโยชน์มากกว่าการแข่งขัน โดยเชื่อว่าทุกคนสามารถชนะได้โดยไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้แพ้ การมีความคิดที่หลากหลายจึงไม่เพียงเป็นเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศสภาพ แต่ยังช่วยสร้างภาพรวมที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นในการทำงานร่วมกันอีกด้วย

ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้พูดถึงความสำคัญของบทบาทผู้หญิงในกระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเท่าเทียม หรือ “Just Energy Transition” โดยเน้นว่า 

ความละเอียดอ่อน ความรอบคอบและมองในหลายมุมมองของผู้หญิงเป็นข้อได้เปรียบสำคัญ เนื่องจากในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทดแทนมักจะมีคนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง เช่น คนงานในโรงไฟฟ้าถ่านหินและเหมืองถ่านหิน

ดร.อารีพรกล่าวถึงการทำงานของ คุณสมฤดี ชัยมงคล อดีต CEO บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารจัดการการเปลี่ยนผ่านนี้ เนื่องจากท่านมีความสามารถในการสังเกตและคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคนงานเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่ยั่งยืน คุณสมฤดีรู้ว่าจะต้องสื่อสารและเสนอทางเลือกให้กับคนงานอย่างไร เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าไม่ได้ถูกทิ้งไว้ข้างหลังและเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

คุณแพร ภิรมย์ หัวหน้าหน่วย Sasin Sustainability & Entrepreneurship Center สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะแนวทางสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เท่าเทียมในอุตสาหกรรมพลังงานไทย โดยเสนอแนวปฏิบัติที่น่าสนใจจากต่างประเทศ เช่น นอร์เวย์ ซึ่งมีตัวอย่างที่โดดเด่นในด้านการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในงานในภาคน้ำมันและก๊าซ แม้จำนวนวิศวกรหญิงจะเป็นส่วนน้อย แต่กฎหมายและนโยบายของบริษัทต่าง ๆ มีความเข้มงวดในการปกป้องสิทธิและความรับผิดชอบของทุกคน ทำให้ผู้หญิงสามารถทำงานร่วมกับผู้ชายในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยได้ คุณแพรเน้นว่า

นอร์เวย์มีระบบกลไกการดูแลตรวจสอบที่ดี เช่น กลไกการร้องเรียนที่สามารถทำได้อย่างเป็นความลับ และนโยบายการคุ้มครองผู้ที่รายงานการประพฤติผิด องค์กรในประเทศไทยควรเรียนรู้จากตัวอย่างนี้ โดยมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและเท่าเทียม ทำให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใดรู้สึกปลอดภัยในที่ทำงานเหมือนอยู่ที่บ้าน

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดจากเวทีเสวนา โครงการยังได้จัดกิจกรรมเน็ตเวิร์คกิ้ง “Women Shaping the Future of Energy: Empowering the Next Generation” ร่วมกับโครงการ Thai-German Energy Dialogue (TGED) โดย GIZ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้หญิงในภาคพลังงานได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ พร้อมทั้งส่งเสริมศักยภาพของผู้นำหญิงรุ่นใหม่ ผ่านการให้คำแนะนำด้านอาชีพและการขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานในภาคพลังงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในอุตสาหกรรมนี้

หมายเหตุ

[1] รายงานจากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) https://www.iea.org/topics/energy-and-gender

[2] สำหรับผู้ที่สนใจสามารถชมงานเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/4e5w8uY

[3] บทสัมภาษณ์ตัวแทนผู้หญิงในภาคพลังงาน ในซีรีส์ “Women in Energy” https://www.sdgmove.com/tag/women-in-energy/

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

ฐิติกร ศรีชมภู

เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE)

อีเมล: thitikorn.srichomphoo(at).giz.de