กรุงเทพฯ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2567 – โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE) ภายใต้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับ วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร (SGtech) จัดประชุม “Thailand Agrivoltaics Policy Recommendations Validation Forum”
การประชุมครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากการประชุมกลุ่มย่อย (focus group) หัวข้อ “นโยบายและกฎระเบียบที่แนะนำในการปลูกพืชร่วมกับการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Agrivoltaics) ในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นฐานความรู้ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประเมินความถูกต้องของข้อมูลเชิงลึกที่รวบรวมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องและมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี Agrivoltaics ระหว่างหน่วยงานภาคเกษตรกรรม ภาคการใช้ที่ดิน ภาคพลังงาน รวมไปถึงภาคเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมและหาแนวทางในการพัฒนานโยบาย กฎระเบียบ และข้อบังคับสำหรับการบูรณาการการปลูกพืชร่วมกับการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย
“การปลูกพืชร่วมกับการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์เป็นแนวทางที่น่าสนใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร การใช้ประโยชน์ที่ดิน และการผลิตพลังงาน การประชุมครั้งนี้จะช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนา Agrivoltaics ในประเทศไทย ช่วยให้ผู้คนเข้าใจกฎระเบียบและนโยบายทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ดีขึ้น เพิ่มช่องทางรายได้ที่หลากหลายให้กับเกษตรกร และสนับสนุนเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียนและความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ”
คุณซาช่า อ้อปโปว่า (Sascha Oppowa) ผู้อำนวยการโครงการ CASE กล่าวในช่วงเปิดการประชุม
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำคัญที่หารือในการประชุม:
- ส่งเสริมการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์จากภาคเกษตรกรรมและพลังงาน โดยมีการอนุญาตและกำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับ Agrivoltaics
- สนับสนุนให้มีการพัฒนาโครงการ Agrivoltaics เพื่อช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน โดยเพิ่มเงินอุดหนุน เงินจูงใจ และการสนับสนุนด้านการเงิน
- สนับสนุนให้เกษตรกรใช้ Agrivoltaics ในการทำเกษตรกรรม โดยภาครัฐสนับสนุนด้านความรู้และการเงินผ่านความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private-Partnership: PPP)
- สนับสนุนให้พัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมที่มีรายได้และผลผลิตทางการเกษตรน้อยกว่าค่าเฉลี่ยสำหรับดำเนินการ Agrivoltaics
- กำหนดให้ Agrivoltaics เป็นส่วนหนึ่งของแผนชาติในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัว
ข้อเสนอเชิงมาตรการและกฎระเบียบ:
- กำหนดมาตรฐานสำหรับการออกแบบ ติดตั้ง การเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้า การดำเนินการ การดูแลรักษา และความปลอดภัยของ Agrivoltaics
- กำหนดระเบียบและมาตรฐานสำหรับการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าจากโครงการ Agrivoltaics
- กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับ Agrivoltaics
- มาตรการสนับสนุนทางการเงิน เช่น อัตราค่าไฟฟ้าซื้อคืน เครดิตภาษี และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
- กำหนดแนวทางการตรวจวัด การรายงานและการทวนสอบ (MRV) เพื่อใช้ในการติดตามและประเมินผลจากการดำเนินโครงการ Agrivoltaics
- กำหนดให้มีการอบรมและมอบประกาศนียบัตรแก่เกษตรกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะดำเนินการ Agrivoltaics
รองศาสตราจารย์ ดร. นิพนธ์ เกตุจ้อย และ รองศาสตราจารย์ ดร.ประพิธาริ์ ธนารักษ์ คณะนักวิจัยทำงานโครงการฯ จาก SGtech ให้ข้อมูลว่า การปลูกพืชร่วมกับการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ถือเป็นเรื่องใหม่ของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองแห่งการเพาะปลูกและมีพื้นที่เกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก ประกอบกับประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะต้องบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ใน ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG) ภายใน ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) ตามที่ได้ประกาศไว้ การจัดทำงานศึกษาและประชุมกลุ่มย่อยเพื่อศึกษาศักยภาพในการพัฒนา Agrivoltaics ถือเป็นก้าวแรกในการผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นในระดับนโยบายหากแนวคิดนี้สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เสริมความมั่นคงด้านพลังงาน และสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการเกษตร
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ได้รับการประเมินและรับรองจากที่ประชุมจะนำไปพัฒนากฎหมายและโครงการสนับสนุนการปลูกพืชร่วมกับการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยต่อไป โดยคาดว่าจะมีการจัดทำรายงานภายในเดือนสิงหาคมนี้ และเผยแพร่รายงานฉบับสมบูรณ์ในลำดับถัดไป
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ศิรินุช ระย้า
เจ้าหน้าที่เทคนิคด้านพลังงาน โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE)
อีเมล: sirinut.raya(at)giz.de